ประวัติความเป็นมาของการละเล่นวัวชน

วัวชน…ชนวัว
ประวัติความเป็นมา



                                                      
                          ครั้นอดีตใช้วัวลากคันไถ                               วิถีไทยโบราณแต่ก่อนเก่า
              ทำไร่นาหาปลาภูมิลำเนา                                         มิจากบ้านห่างเขาลำเนาไพร
                          เลิกจากนาพาสนุกคลายทุกข์บ้าง                 จึงหาทางสร้างสีสันอันสุขใจ
              ถอดคันไถจากวัวแต่โดยไว                                        การละเล่นของไทยคือ “ชนวัว”
                          วัวนี่หรือถือเป็นทาสของคนหนา                    คอยนำพาเลี้ยงชีพผู้คนทั่ว
              เหนื่อยแค่ไหนไม่เคยบ่นหรอกนะวัว                           ไม่เคยกลัวแม้ลำบากแล *ตรากตรำ
                          ปัจจุบันผันแปรผิดแต่ก่อน                            ตอนเช้าตรู่ตื่นนอนช่างน่าขำ
              บนถนนคนวิ่งตามวัววิ่งนำ                                       คงเป็นกรรมของคนทำกับวัว
                          ค่านิยมมีมากทุกวี่วัน                                   ค่าเดิมพันแต่ละครั้งน่าสลัว
               หมื่นแสนล้านตามเก่งกาจเฉพาะตัว                         เป็นค่าหัวหากชนะก็ได้ไป
                          การละเล่นแปรเปลี่ยนหมุนเวียนหาย             มีกลับกลายเป็นการพนันไซร้
               เลี้ยงอย่างดีเพื่อหวังการมีชัย                                  หวังจะได้เงินตราจาก “วัวชน”                                                                                                                                                              

“วัวชน” เป็นกีฬาพื้นบ้านที่มีชื่อเสียงมากที่สุดอย่างหนึ่งของชาวภาคใต้ เป็นการคัดเลือกเอาวัวที่มีคุณลักษณะเหมาะสมมาชนกันในสถานที่ที่กำหนด และมีการตั้งกติกาที่แพ้-ชนะ อย่างชัดเจน กีฬาวัวชนเป็นกีฬาที่ให้ความสนุกสนาน ตื่นเต้น และความประทับใจแก่ผู้ที่มาชมเป็นอย่างมาก กีฬาชนิดนี้จึงเป็นที่นิยมในภาคใต้ จนเป็นที่ยอมรับโดยทั่วไปว่า กีฬาวัวชนเป็นเอกลักษณ์อย่างหนึ่งของภาคใต้ก็ว่าได้
สถาบันทักษิณคดีศึกษา (๒๕๒๙: ๘๙๙) ได้ให้ความรู้เรื่องวัวชนไว้ว่า “วัวชน กีฬาชนิดนี้ชาวภาคใต้น่าจะได้รับกีฬาประเภทนี้มาจากพวกโปรตุเกส คือในสมัยพระเจ้าเอมมานูแอล ในปี พ.ศ. ๒๐๖๑ ซึ่งตรงกับรัชสมัยของสมเด็จพระรามาธิบดีพระองค์นี้ได้ทรงอนุญาตให้ชาวโปรตุเกสเข้ามาทำการค้าขายกับไทยโดยทางเรือ และให้ทำการค้าใน ๔ เมือง คือ ที่กรุงศรีอยุธยา นครศรีธรรมราช ปัตตานี และมะริด นอกจากทำการค้าแล้ว ชาวโปรตุเกสบางพวกยังได้เผยแพร่ขนบธรรมเนียมไว้หลายอย่างเช่น การติดตลาดนัด การทำเครื่องถม และการชนวัว เป็นต้น
           ในอดีตเชื่อกันว่า กีฬาวัวชน เป็นการเอาวัวมาชนกันเพื่อความสนุกสนานเพียงอย่างเดียว แต่ต่อมาได้มีการพนันขันต่อกันด้วยตามวิสัยของมนุษยชาติ กีฬาวัวชนจึงได้กลายมาเป็นการพนันประเภทหนึ่งด้วยเหตุนี้ เมื่อเป็นกีฬาที่มีการพนันแทรกเข้ามาโดยมีการได้เสียกันเป็นเงินเรือนหมื่นเรือนแสน ทางราชการก็จำเป็นต้องเข้าไปควบคุมการเล่นประเภทนี้ให้ถูกกฎหมายของบ้านเมือง เพื่อป้องกันมิให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อยใดๆขึ้น โดยปัจจุบันจัดให้มีบ่อนวัวชนที่ถูกต้องตามกฎหมาย เรียกว่า “สนามชนโค” หรือเรียกกันอย่างสามัญว่า “บ่อนวัวชน” หรือ “บ่อนชนวัว” การชนวัวมักจะจัดขึ้นในช่วงเทศกาลต่างๆ เช่น งานเทศกาลสารทเดือนสิบที่จังหวัดนครศรีธรรมราช หรืองานเฉลิมพระชนมพรรษาที่จังหวัดตรัง โดยในช่วงปกติจะชนได้เดือนละ ๑ ครั้ง เท่านั้น มีการกำหนดให้ชนในวันเสาร์หรือวันอาทิตย์สัปดาห์ใดสัปดาห์หนึ่งของเดือน แต่ถ้าวันเสาร์วันอาทิตย์ใดตรงกับวันธรรมสวนะก็ต้องเลื่อนไปชนในวันเสาร์หรือวันอาทิตย์อื่น”

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น