“การชนวัว” หรือ “การชนโค”

บทนำ


                        กีฬาหนึ่งซึ่งโด่งดังทางฝั่งใต้                  สัตว์ตัวใหญ่คือนักสู้สู่สนาม
                    เปรียบนักรบกู่ก้องร้องคำราม                       คนร้องตามร้องโห่โชว์กำลัง
                                 แข่ง "ชนโค" หรือ "วัวชน" คนรู้จัก          ต่างพร้อมพรักจูงออกนอกคอกขัง
                       จูงลงแข่งวัวตัวโตโชว์พลัง                          คนเชียร์ดังเสียงอื้ออึงจึงฮาเฮ
                                วางเดิมพันพันต่อพอหอมปาก                 เดิมพันมากกลัวแพ้พ่ายให้ใจเขว
                    บางคนเล่นควักเงินออมยอมทุ่มเท              ถึงกับเซตัวที่เชียร์ดันเสียที
                             จูงกลับบ้านพานโกรธโทษวัวแพ้              อุตส่าแลเลี้ยงดูให้ไม่หน่ายหนี
                     ม่เลี้ยงแล้วขายวัวไปไม่อรี                           คิดให้ดีผิดที่วัวหรือที่คน....






ประวัติความเป็นมาของการละเล่นวัวชน

วัวชน…ชนวัว
ประวัติความเป็นมา



                                                      
                          ครั้นอดีตใช้วัวลากคันไถ                               วิถีไทยโบราณแต่ก่อนเก่า
              ทำไร่นาหาปลาภูมิลำเนา                                         มิจากบ้านห่างเขาลำเนาไพร
                          เลิกจากนาพาสนุกคลายทุกข์บ้าง                 จึงหาทางสร้างสีสันอันสุขใจ
              ถอดคันไถจากวัวแต่โดยไว                                        การละเล่นของไทยคือ “ชนวัว”
                          วัวนี่หรือถือเป็นทาสของคนหนา                    คอยนำพาเลี้ยงชีพผู้คนทั่ว
              เหนื่อยแค่ไหนไม่เคยบ่นหรอกนะวัว                           ไม่เคยกลัวแม้ลำบากแล *ตรากตรำ
                          ปัจจุบันผันแปรผิดแต่ก่อน                            ตอนเช้าตรู่ตื่นนอนช่างน่าขำ
              บนถนนคนวิ่งตามวัววิ่งนำ                                       คงเป็นกรรมของคนทำกับวัว
                          ค่านิยมมีมากทุกวี่วัน                                   ค่าเดิมพันแต่ละครั้งน่าสลัว
               หมื่นแสนล้านตามเก่งกาจเฉพาะตัว                         เป็นค่าหัวหากชนะก็ได้ไป
                          การละเล่นแปรเปลี่ยนหมุนเวียนหาย             มีกลับกลายเป็นการพนันไซร้
               เลี้ยงอย่างดีเพื่อหวังการมีชัย                                  หวังจะได้เงินตราจาก “วัวชน”                                                                                                                                                              

“วัวชน” เป็นกีฬาพื้นบ้านที่มีชื่อเสียงมากที่สุดอย่างหนึ่งของชาวภาคใต้ เป็นการคัดเลือกเอาวัวที่มีคุณลักษณะเหมาะสมมาชนกันในสถานที่ที่กำหนด และมีการตั้งกติกาที่แพ้-ชนะ อย่างชัดเจน กีฬาวัวชนเป็นกีฬาที่ให้ความสนุกสนาน ตื่นเต้น และความประทับใจแก่ผู้ที่มาชมเป็นอย่างมาก กีฬาชนิดนี้จึงเป็นที่นิยมในภาคใต้ จนเป็นที่ยอมรับโดยทั่วไปว่า กีฬาวัวชนเป็นเอกลักษณ์อย่างหนึ่งของภาคใต้ก็ว่าได้
สถาบันทักษิณคดีศึกษา (๒๕๒๙: ๘๙๙) ได้ให้ความรู้เรื่องวัวชนไว้ว่า “วัวชน กีฬาชนิดนี้ชาวภาคใต้น่าจะได้รับกีฬาประเภทนี้มาจากพวกโปรตุเกส คือในสมัยพระเจ้าเอมมานูแอล ในปี พ.ศ. ๒๐๖๑ ซึ่งตรงกับรัชสมัยของสมเด็จพระรามาธิบดีพระองค์นี้ได้ทรงอนุญาตให้ชาวโปรตุเกสเข้ามาทำการค้าขายกับไทยโดยทางเรือ และให้ทำการค้าใน ๔ เมือง คือ ที่กรุงศรีอยุธยา นครศรีธรรมราช ปัตตานี และมะริด นอกจากทำการค้าแล้ว ชาวโปรตุเกสบางพวกยังได้เผยแพร่ขนบธรรมเนียมไว้หลายอย่างเช่น การติดตลาดนัด การทำเครื่องถม และการชนวัว เป็นต้น
           ในอดีตเชื่อกันว่า กีฬาวัวชน เป็นการเอาวัวมาชนกันเพื่อความสนุกสนานเพียงอย่างเดียว แต่ต่อมาได้มีการพนันขันต่อกันด้วยตามวิสัยของมนุษยชาติ กีฬาวัวชนจึงได้กลายมาเป็นการพนันประเภทหนึ่งด้วยเหตุนี้ เมื่อเป็นกีฬาที่มีการพนันแทรกเข้ามาโดยมีการได้เสียกันเป็นเงินเรือนหมื่นเรือนแสน ทางราชการก็จำเป็นต้องเข้าไปควบคุมการเล่นประเภทนี้ให้ถูกกฎหมายของบ้านเมือง เพื่อป้องกันมิให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อยใดๆขึ้น โดยปัจจุบันจัดให้มีบ่อนวัวชนที่ถูกต้องตามกฎหมาย เรียกว่า “สนามชนโค” หรือเรียกกันอย่างสามัญว่า “บ่อนวัวชน” หรือ “บ่อนชนวัว” การชนวัวมักจะจัดขึ้นในช่วงเทศกาลต่างๆ เช่น งานเทศกาลสารทเดือนสิบที่จังหวัดนครศรีธรรมราช หรืองานเฉลิมพระชนมพรรษาที่จังหวัดตรัง โดยในช่วงปกติจะชนได้เดือนละ ๑ ครั้ง เท่านั้น มีการกำหนดให้ชนในวันเสาร์หรือวันอาทิตย์สัปดาห์ใดสัปดาห์หนึ่งของเดือน แต่ถ้าวันเสาร์วันอาทิตย์ใดตรงกับวันธรรมสวนะก็ต้องเลื่อนไปชนในวันเสาร์หรือวันอาทิตย์อื่น”

การคัดเลือกวัวชน

การคัดเลือกวัวชน


                นักเลงวัวชนที่เป็นเจ้าของวัวบางคนจะผสมพันธุ์วัวชนของตนเอง แล้วคัดเลือกลูกคอกที่มีลักษณะดีนำมาใช้เป็นวัวชนต่อไป แต่บางคนอาจสืบเสาะหาวัวที่มีคุณลักษณะดีเด่นตามที่ตนต้องการจากท้องถิ่นต่างๆที่มีพันธุ์วัวชนอยู่ โดยการซื้อขายหรือแลกเปลี่ยนอย่างใดอย่างหนึ่ง วัวชนตัวหนึ่งๆมีราคาประมาณตั้งแต่ ๑๐,๐๐๐ – ๕๐,๐๐๐ บาท วัวตัวที่ได้รับการคัดเลือกก็จะต้องเป็นวัวที่มีลักษณะดี หรือมีเชิงชนดีอย่างใดอย่างหนึ่ง ส่วนมากจะเป็นวัวที่เคยชนมาแล้วอย่างน้อย ๑ – ๒ ครั้ง จนเห็นชั้นเชิงหรือลีลาการชน และมักจะเป็นวัวที่มีอายุไม่มากนัก คือ ราว ๓ – ๕ ปี แต่ถ้าเป็นวัวที่ไม่เคยชนมาก่อน ก็ต้องเอา “วาง” หรือ “ซ้อม” ดูกับวัวอื่น เพื่อดู “ทางชน” หรือชั้นเชิงของวัวตัวนั้นเสียก่อน ถ้าชนดีก็คัดเลือกเอาไว้ใช้เป็นวัวชนต่อไป

การเลี้ยงดู


              ในระยะแรกต้องเอาวัวที่คัดเลือกไว้นั้นมา “ปรน” (บำรุงเลี้ยงดู) ให้สมบูรณ์เสียก่อน ในกรณีที่เป็นวัวใหม่ อาหารหลักก็คือหญ้าเกือบทุกชนิด นอกจากจะล่ามหรือผูกให้กินหญ้า ตามทุ่งหญ้าหรือสนามหญ้าแล้วยังจะต้องตัดหญ้าใส่ลังหรือรางให้กินในโรงที่พักของวัวอีกด้วย บางทีอาจป้อนหญ้าให้กินด้วยก็มี เพราะฉะนั้นวัวชนจึงมีความเป็นอยู่ดีกว่าวัวใช้งานและวัวชนิดอื่น ๆ จนมีสำนวนพูดเปรียบเทียบกับคนที่มีฐานะดีที่ไม่ต้องดิ้นรนขวนขวายในการทำมาหากินว่า “กินหญ้าตัด” อาหารหลักอย่างอื่นก็มีน้ำและเกลือ สำหรับน้ำจะต้องให้กินอย่างน้อย วันละ 2-3 ครั้ง ส่วนเกลือนั้นให้กิน 15 วันต่อ 1 ครั้ง ๆ ละ 1 กำมือหรืออาจมากน้อยกว่านั้นสักเล็กน้อยก็ได้ อาหารเสริมสำหรับวัวชนมีหลายอย่าง เช่น ถั่วเขียวต้มน้ำตาลกรวด ข้าวต้มกล้วยน้ำว้า กล้วยหอม น้ำมะพร้าวอ่อน อ้อย ขนุน ไข่ไก่และผลไม้อื่น ๆ สำหรับไข่ไก่ให้กินสด ๆ ทีละ 10-15 ฟองบางตัวที่เจ้าของฐานะดีก็อาจจะเอาไข่ไก่นั้นตีแล้วคนกับเบียร์ดำตราคอหมาป่าใส่กระบอกกรอกให้กินก็มี
             ที่อยู่อาศัยของวัวชน จะปลูกสร้างเป็นโรงนอนให้อยู่ขนาดพอสมควร ต้องก่อไฟแกลบไล่ยุง ริ้นไม่ให้รบกวนได้บางตัวที่เจ้าของฐานะดีก็อาจจะเย็บมุ้งหลังใหญ่ให้นอนด้วยในปัจจุบันในเรื่องนี้ไม่ค่อยมีปัญหานัก เพราะเกือบทุกโรงนอนของวัวชนที่มีชื่อมักทำมุ้งลวดให้อยู่อาศัย โรงวัวดังกล่าวก็จะต้องทำความสะอาดทุกวัน
               เดือนหนึ่ง ๆ จะซ้อมคู่ได้ประมาณ 1-2 ครั้ง วัวชนตัวหนึ่งต้องซ้อมคู่ 4-5 ครั้ง จึงจะทำการชนได้ ฉะนั้นวัวชนตัวหนึ่ง ๆ โดยเฉพาะวัวใหม่จะต้องใช้เวลาเลี้ยงดูและฝึกซ้อมอย่างจริงจังอย่างน้อยไม่ต่ำกว่า 4 เดือน
วัวชนนั้นถ้าได้เลี้ยงดูและฝึกซ้อมดีจนถึงขนาด ก็อาจเอาชนะคู่ต่อสู้ได้แม้ว่าจะมีชั้นเชิงด้อยกว่าคู่ต่อสู้ก็ตาม เช่นนี้ เรียกว่ามี “น้ำเลี้ยง” หรือ “เนื้อเลี้ยง” หรือ เนื้อดีกว่าในขณะเดียวกันตัวที่แพ้ก็จะเรียกว่า “แพ้เนื้อ” หรือ “แพ้น้ำเลี้ยง”
 


            การออกกำลังกายและฝึกซ้อมในระยะก่อนชนคนเลี้ยงต้องพาวัวเดินออกกำลังกายในตอนเช้ามืดทุกวัน เป็นระยะทางวันละ 5-10 กิโลเมตร เป็นประจำ เมื่อเดินออกกำลังกายในตอนเช้าแล้วผู้เลี้ยงจะนำวัวไปอาบน้ำด้วยการขัดสีด้วยแปลง บางตัวก็ฟอกสบู่จนเนื้อตัวสะอาดดีแล้วก็นำมากินหญ้าแล้วเริ่มตากแดด เรียกว่า “กราดแดด” หรือ “กรากแดด” คือล่ามหรือผูกไว้กลางแดดเพื่อให้วัวมีน้ำอดน้ำทน เริ่มกราดแดดตั้งแต่เวลา 09.00 นาฬิกา จนกระทั่งถึง 12.00 นาฬิกา แต่บางตัวที่ยังไม่หอบก็ต้องตากแดดไปถึงบ่ายก็ได้ เมื่อกราดแดดแล้วก็นำเข้าโรงเพื่อพักผ่อน ให้กินหญ้ากินน้ำ พอถึงเวลา 15.00-16.00 นาฬิกา คนเลี้ยงจะนำวัวไปอาบน้ำอีกครั้งหนึ่งแล้วพาเดินไปยังสนามที่จะชนเพื่อให้คุ้ยเคยกับสถานที่ เรียกว่าให้ “ลงที่” ทุกวัน
          การซ้อมคู่ เรียกว่า “ปรือ” หรือ “ปรือวัว” ก่อนจะมี การซ้อมคู่จะต้องหยุดการออกกำลังกายอย่างน้อย 2 วัน การซ้อมคู่ใช้เวลาประมาณ 5-20 นาที (เวลามากน้อยขึ้นอยู่กับวัยและความแข็งแกร่งของวัวแต่ละตัว) การซ้อมคู่ในปัจจุบันจะใช้ปลาสเตอร์พันปลายยอดหรือหลายทั้ง 2 ข้าง ถ้าเป็นวัวเขายาวอาจต้องใช้เพลาสเตอร์หลายม้วนก็ได้ และการซ้อมคู่ทุกครั้งจะต้องใช้เชือกยาว ทั้งนี้ก็เพื่อความสะดวกในการแยกวัวออกจากกันเมื่อต้องการจะหยุดซ้อม
     ฉะนั้น การที่วัวชนตัวใดตัวหนึ่ง จะเอาชนะคู่ต่อสู้ได้นั้นก็ย่อมขึ้นอยู่กับเหตุผลบางประการ คือ จะไม่เสียเปรียบคู่ต่อสู้จนเกินไป ไม่ว่าในเรื่องของร่างกาย เขา เชิงชน ความแข็งแรง และความทรหดอดทน ฯลฯ ส่วนลักษณะตามความเชื่อ เช่น สี ขวัญ หรือกิริยาอาการต่าง ๆ ล้วนแต่เป็นเครื่องสังเกตอย่างหนึ่งเท่านั้น มิใช่เครื่องทำนายผลการต่อสู้ได้อย่างถูกต้องทุกครั้งไป


ตั้งชื่อวัวชน
             ในสมัยก่อนการตั้งชื่อวัวชนไม่ถือว่าเป็นเรื่องสำคัญแต่อย่างใด คือมักจะเรียกตามชื่อ “สี” ของวัวตัวนั้น หรืออาจจะนำเอาชื่อเจ้าของวัวต่อท้ายชื่อวัวนั้นเข้าไปด้วยก็ได้ เช่น วัวสีแดง ของนายทบ แห่งอำเภอฉวาง จังหวัดนครศรีธรรมราช ชนกับวัวลายของนายเตง แห่งอำเภอเชียรใหญ่ จังหวัดนครศรีธรรมราชตามกำหนดการของสนามก็จะออกมาว่า “วัวแดงทบ”นายทบ ฉวาง ชนกับ วัวลายลูกเตง นายเตง เชียรใหญ่ “ ฯลฯ ในปัจจุบันการตั้งชื่อวัวชนถือเป็นเรื่องสำคัญคล้ายกับตั้งชื่อคน หรือชื่อนักมวยอยู่เหมือนกันแต่ชื่อของวัวชนนั้นจะตั้งชื่อว่าอะไรก็ตาม คำนำหน้าชื่อจะต้องขึ้นต้นด้วยสีของวัวก่อนเสมอ ตัวอย่างเช่น โคแดงไพรวัลย์ โคโหนดแสนสิงห์ โคขาวสังหารลูกเทวดา โคโหนด 357
โคโหนดเฉียบขาด โคลั่นดาสายชล โคลางสาดนิ่มนวล โคดุกด้างน้องหนึ่ง โคโหนดพระราม โคนิลยมบาล โคขาวเทวา โคนิลหนุมาน โคแดงขุนช้าง โคขาวไหมสิงโต โคดุกด้างค้างคาว โคขาวเนตรน้อย โคขาวพเยาว์ โคแดงชาติชาย โคแดงขุนทัพ โคนิลสกายแล้ป โคนิลยีราฟ โคโหนดเปาบุ้นจิ้นโคแดงว่องไว โคนิลท้องลายณรงค์ฤทธิ์ โคแดงงามรุ่งโรจน์ โคโหนดโคฮัง โคนิลโพธิ์เงิน โคคอดำเอราวัณ โคแดงอาภัพ โคขาวแห้ง โคนิลแซมประกายฟ้า โคนิลน้อย โคขาวขวัญโดม โคลายกู้เกียรติพิชิตศึก ฯลฯ
การเติมชื่อวัวชนบางที่เติมคำว่า “อ้าย” เข้าข้างหน้าชื่อก็มี เช่น อ้ายแดงไพรวัลย์ อ้ายนิลโพธิ์เงิน เป็นต้น

อาหารวัวชน

อาหารวัวชน

กีฬาชนวัวมีมานานมากคู่กับภาคใต้ เกิดขึ้นพร้อมกับวัฒนธรรมเกษตรของไทย มีแพร่หลายในภาคใต้ ส่วนภาคอื่นๆก็มีเช่นกันแต่ไม่มากนักเช่น ภาคเหนือตอนล่าง เช่น สุโขทัย อ.แม่สอด จ.ตาก อ.สันกำแพง จ.เชียใหม่ และชาวเขาเผ่ามุ้งในประเทศลาว
แหล่งที่เลี้ยงกันมากคือภาคใต้ เช่น
1.จังหวัดนครศรีธรรมราช > อ.ทุ่งสง ,อ.ชะอวด,อ.จุฬาภรณ์,อ.เชียรใหญ่
อ.หัวไทร ,อ.ร่อนพิบูน, อ.เมือง
2.จังหวัดสงขลา> อ.รัตนภูมิ ,อ.ระโนด ,อ.สะทิงพระ,อ.เมือง
3.จังหวัดพัทลุง > อ. เมือง ,อ.ควนขนุน,อ.เขาชัยสน ,อ.ปากพะยอม
อ.ศรีบรรพต,อ.ตะโหมด,อ.ป่าบอน
4.จังหวัดตรัง >อ.เมือง,อ.ห้วยยอด อ.ย่านตาขาว
5.จังหวัดสุราษฎร์ธานี > อ.บ้านนาเดิม,อ.บ้านนาสาร,อ.เวียงสระ,อ.พุนพิน


จากการสอบถามจากผู้เลี้ยงวัวชน จะคัดเลือกวัวเพศผู้มาเป็นวัวชนได้
ประมาณ 10% ของประชากรเพศผู้พื้นเมือง
วัวชนคัดมาจากโคพื้นเมืองภาคใต้ เป็นโคสายพันธุ์อินเดีย มีนิสัยเปรียว ดุร้าย โดยเฉพาะแม่โคที่เลี้ยงลูก มักจะขวิดคนที่เข้าใกล้ ตื่นตกใจง่าย มีขนาดเล็ก โตช้า ชอบรวมฝูง
ตัวผู้หนักประมาณ 350 กิโลกรัม ตัวเมียหนักประมาณ 250 กิโลกรัม
ทนทานต่ออากาศร้อน และให้ลูกสม่ำเสมอ เนื้อไขมันแทรกน้อยเหนียวเปอร์เซ็นต์ซากต่ำ (50%) เนื้อเหมาะกับทำอาหารไทย มากกว่าทำอาหารยุโรป

ลักษณะที่สำคัญของโคพื้นเมืองภาคใต้
1.รูปร่างเล็ก กะทัดรัด ลำตัวแน่นทึบ
2.หลังค่อนข้างตรง
3.มีความคล่องตัว ในการใช้แรงงานภาคเกษตร
4.หน้ายาวบาง หน้าผากแคบ
5.ดวงตาขนาดปานกลาง จมูกแคบ ใบหูเล็กกาง
6.ขนสั้นเกรียน มีเขายาวปานกลาง ตัวผู้จะเขายาวกว่าตัวเมีย
7.มีเหนียงคอ แคบและเล็กกว่าโคอินเดีย
8.มีตะโหนกชัดเจนในตัวผู้ ส่วนเพศเมียมีไม่ชัดเจน
9.คอและไหล่หนา มีกล้ามเนื้อชัดเจน
10.บั้นท้ายลาดลง กล้ามเนื้อขาหลังน้อย หางเล็ก ยาว
11.สีมีหลายสี เช่น สี ดำ น้ำตาล ขาวครีม ด่าง
มักจะพบสีน้ำตาลแกมแดง มากที่สุด



หลักการเลี้ยงวัวชนให้ประสบผลสำเร็จ
1. พันธุ์ดี คือ ร่างการสมบูรณ์แข็งแกร่ง เชิงการชนดี จิตใจนักสู้ เป็นที่รู้กันว่าแต่ละพ่อพันธุ์แต่ละตัวมีจุดเด่นอะไร นักเลี้ยงวัวจะเสาะแสวงหาพ่อวัวที่ดี เพื่อนำมาเข้าคอกของตน
2. การจัดการดี เรื่องการดูแลเลี้ยงดูจากวัวชนเล็กๆ มาเป็นวัวรุ่น การฝึกซ้อม การดูแลก่อนชนโรงเรือน ที่ออกกำลังกาย โปรแกรมการฝึกซ้อม
3.การดูแลสุขภาพ เช่น การให้วัคซิน การถ่ายพยาธิ การกำจัดแมลงรบกวน
4. การให้อาหารที่ดี ถ้าทั้ง 3 ดีหมดมาละเลยข้อสุดท้ายคืออาหาร วัวชนของท่านก็จะไม่เต็มร้อย
ถ้า คู่แข่งเตรียมมาดีทั้งสี่ข้อ วัวเขาก็จะได้เปรียบ ในวงการวัวชนสนใจแต่ยาโด๊ป ยากระตุ้น ยาบำรุงกำลัง ไม่ค่อยให้ความสนใจด้านอาหาร จากความเชื่อผิดๆว่าเอาอาหารมาให้วัวกินวัวจะอ้วน ไม่คึกนั้นจริงบางส่วน เพราะไปเอาอาหารวัวขุนที่พลังงานสูงมันทำทำให้วัวอ้วน เป็นการใช้อาหารผิดประเภท และวัตถุประสงค์
เรามาเริ่มที่อาหารหยาบก่อนครับคือหญ้า
ที่นิยมใช้กันมากคือให้หญ้าหวายข้อ (หญ้าพื้นเมือง) เกี่ยวมาให้กิน วันละ 2 เวลา (เช้า-เย็น) ปริมาณการกินได้ของวัวประมาณ 10 % ของน้ำหนักตัว คุณสมบัติของหญ้าข้อหวาย โปรตีนสูง เยื่อใยสูง กินแล้วไม่อ้วน สังเกตจากมูลวัวจะเป็นก้อน ไม่เหลว หน้าฝนน้ำท่วมหาหญ้ายาก หญ้าขน และหญ้ารูซี่ ก็ใช้แทนได้เช่นกัน

คุณสมบัติของอาหารวัวชนที่ดีคือ
1.ต้องเป็นอาหารที่มีแร่ธาตุและวิตามินไปเสริมสร้างความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ กระดูก ผิวหนังเป็นมัน ขนสวย
2.กินแล้วไม่สร้างไขมันใต้ผิวหนังซึ่งทำให้วัวหอบ ไม่ทนอากาศร้อน ทำให้วัวไม่ปราดเปรียว
3.เน้น โปรตีน เน้นแร่ธาตุ เน้นวิตามิน ที่ทำให้วัวแข็งแรง มีอาการคึกคะนองเนื่องจากอาหารจะช่วยเรื่องการสร้างฮอร์โมนเพศผู้และกล้าม เนื้อ พลังงานในอาหารต่ำ กินแล้ววัวชนไม่อ้วน
4.อาหารวัวชน ไม่ต้องการอาหารเพื่อเพิ่มน้ำหนัก แต่ต้องการเพิ่มความแข็งแรงเท่านั้น
5.ใช้ น้อยเพียง 1 กิโลกรัม/ตัวต่อวัน ให้เพื่อเติมเต็มวิตามินและแร่ธาตุที่วัวชนได้รับจากหญ้าธรรมชาติไม่พอ โดยเฉพาะ แคลเชียม ฟอสฟอรัส แร่ธาตุที่จำเป็นต่อการสร้างขนและผิวหนังให้มันเช่น ซัลเฟอร์ ระบบสืบพันธุ์และฮอร์โมนด์ เช่น วิตามิน AD3E Niacin ซิลิเนียม ที่ต้องการน้อยแต่มีความจำเป็น ที่หญ้าจากธรรมชาติให้ไม่เพียงพอ


อาหารวัวชนของบริษัทที่ผลิตอาหารสัตว์ชั้นนำ ที่มีการผลิตสำหรับวัวชนโดยเฉพาะที่มีการใช้แพร่หลายในกลุ่มผู้เลี้ยงวัวชน โดยให้วันละ 1 กิโลกรัม ไม่ใช่อาหารหลัก ให้เพื่อเสริมวิตามินแร่ธาตุที่จำเป็นโดยไม่ต้องฉีดยาบำรุงทำให้วัวชนกลัว เข็ม เป็นการเสริมให้ได้รับแร่ธาตุและวิตามินทุกๆ วัน ค่อยๆบำรุงในการเก็บตัววัวก่อนชน หรือใช้บำรุงวัวที่บาดเจ็บหลังการชนให้พื้นตัวได้เร็ว


หนึ่งในเคล็ด(ไม่)ลับ ที่เอามาฝากชาววัวชน
1. เตรียมวัวให้พร้อมที่สุดก่อนลงสนามทุกคนทำได้
2. ในสนามวัวเท่านั้นทีจะตัดสินแพ้ชนะ คนช่วยอะไรไม่ได้ อยู่ที่ตัววัวครับ
อาหารเสริมวิตามิน แร่ธาตุเข้มข้นสำหรับวัวชน กินวันละ 1 กิโลกรัม จะได้วิตามินแร่ธาตุครบตามความต้องการของวัวชน



สนใจลองสอบถาม ตัวแทนจำหน่ายอาหาร ซีพี หรือ สตาร์ฟีด ร้านใกล้บ้านท่าน โดยเฉพาะทางเขตภาคใต้

กติกาสำหรับการวัวชน


กติกาสำหรับการวัวชน

๑. เมื่อปล่อยวัวทั้งสองให้เข้าชนกัน ถ้าฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่กล้าสู้ คือ วิ่งหนีไปเสียก่อนที่จะประเขากันหรือที่เรียกว่า “ไม่ต่อหัว” ก็ถือว่าไม่ได้เสียกัน พันธะเกี่ยวกับการพนันขันต่อสำหรับวัวคู่นั้นก็เป็นอันล้มเลิกไป วัวตัวที่วิ่งหนีก็จะไม่ได้รับค่าหัวหรือค่าตัวจากบ่อน
๒. ถ้าวัวทั้ง ๒ ตัว ปะทะกันแล้ว ถ้าตัวใดวิ่งหนีครั้งแรก กรรมการจะตีกลองให้สัญญาณขึ้น ๑ ครั้ง ให้เวลา๕ นาที เพื่อให้พี่เลี้ยงฝ่ายที่วัวตัวนั้นวิ่งหนี จะได้ต้อนวัวเข้ามาชนใหม่ ถ้าวัวตัวนั้นไม่สู้ไม่กล้าเข้ามาจนครบเวลา๕นาที จะถือว่าแพ้ทันที แต่ถ้าวัวตัวนั้นเข้ามาใหม่แล้วไม่สู้หรือวิ่งไปอีกในครั้งที่๒จะถือว่าแพ้ในทันที
๓. ในกรณีที่วัวตัวที่วิ่งหนีไปแล้ว สามารถเกียดให้กลับเข้ามาชนกันได้เวลาที่ขันน้ำจม ถ้าตัวที่จะชนะอยู่ที่เดิมเกิดวิ่งหนีขึ้น ก็ต้องกลับไปใช้กติกาตามข้อที่ ๒ ใหม่อีกต่อไป
๔. กรณีที่วัวทั้งสองฝ่ายแยกออกจากกันโดยไม่มีอาการว่าวัวตัวใดจะหนี กรรมการจะมีการให้สัญญาณกลอง๒ครั้ง เมื่อวัวเข้ามาสู้ใหม่ แล้ววิ่งหนีไปอีก กรรมการจะให้สัญญาณ ๑ ครั้ง แล้วกลับไปใช้กติกาข้อ ๒ อีก


๕. ถ้าวัวตัวใดล้มลงขณะที่ต่อสู้กัน จนไม่สามารถลุกขึ้นมาสู้ต่อได้อีกจะถือว่าตัวล้มหรือวัวตัวนั้นแพ้นั้นเอง